ความเป็นมาของมูลนิธิคุณพ่อเรย์

         ในปี พ.ศ.2546 มูลนิธิคุณพ่อเรย์ ได้ถูกก่อตั้งขึ้น ตามชื่อของบาทหลวง เรย์มอน อัลลีน เบรนนัน หรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า “คุณพ่อเรย์” มูลนิธิคุณพ่อเรย์ได้ดูแลงานตามโครงการต่าง ๆ ที่คุณพ่อเรย์ได้ตั้งขึ้นด้วยหัวใจของท่าน คุณพ่อเรย์เป็นบาทหลวงชาวอเมริกัน คณะพระมหาไถ่ เพียงปีเดียวที่ท่านได้รับศีลบวช ผู้ใหญ่สั่งให้ท่านเดินทางไปทำงานที่ประเทศไทย โดยที่ท่านไม่เคยรู้จักแม้แต่ชื่อประเทศไทยมาก่อน ทีหลังมารดาของท่านเล่าให้เราฟังว่า ตัวท่านเองไม่รู้สึกแปลกใจอะไรที่ลูกถูกส่งไปประเทศไทย เพราะคุณพ่อเรย์เป็นเด็กคนเดียวในบ้านที่ชอบรับประทานข้าว

        คุณพ่อเรย์เดินทางมาถึงประเทศไทยโดยขึ้นที่ท่าเรือในหมู่บ้านชาวประมง ที่อำเภอศรีราชา ที่นี่เองมีบ้านของคณะพระมหาไถ่เป็นสถานที่ที่ท่านได้เรียนภาษาไทย หลังจากเรียนจบ ท่านถูกส่งตัวไปทำงานที่จังหวัดเลย เป็นสงฆ์เจ้าอาวาสดูแลชาวอีสาน ที่กระจายอยู่ที่ราบและตามภูเขาต่าง ๆ หลังจากสิบปีที่คุณพ่อเรย์ทำงานในเขตอีสาน ท่านถูกย้ายไปช่วยงานที่พัทยา ที่ที่ท่านจะได้อภิบาลบรรดาเหล่าทหารอเมริกันที่แวะลงจากเรือเพื่อเที่ยวพักผ่อน 

        ในปี พ.ศ.2512 คุณพ่อเรย์ทำหน้าที่แทนบาทหลวงก๊อตเบาต์เป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญนิโคลัส พัทยา วันหนึ่ง มีสตรีคนหนึ่งอุ้มลูกอ่อนมาหาคุณพ่อเรย์ เธอเล่าให้ท่านฟังว่า สามีได้ทอดทิ้งเธอและลูกไป เธอรู้สึกว่าไม่สามารถเลี้ยงลูกคนนี้ได้ต่อไปอีกแล้ว คุณพ่อเรย์รับปากที่จะอุปการะเด็กคนนี้ไว้ นี้เป็นจุดเริ่มต้นการช่วยเหลือชีวิตอีกหลายร้อยหลายพันชีวิตของคุณพ่อเรย์ และชีวิตของท่านจะเปลี่ยนไป เป็นก้าวแรกของมูลนิธิคุณพ่อเรย์ของเรา ด้วยปณิภานของคุณพ่อเรย์ที่จะช่วยเหลือเด็กและผู้พิการซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม

โรงเรียนสอนเด็กพิการทางหู

     ย้อนไปในปี พ.ศ.2524 มีผู้พิการทางการพูดกว่าห้าแสนคนในประเทศไทย แต่มีเพียงโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษเหล่านี้เพียงสิบแห่ง สำหรับในเขตภาคตะวันออกที่นับวันจะมีความเจริญมากขึ้น มีหลายครอบครัวที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ แต่กลับไม่มีโรงเรียนสำหรับเด็กต่าง ๆ เหล่านี้เลย เด็ก ๆ เพียงอาศัยอยู่กับครอบครัวโดยไม่ได้รับการพัฒนาหรือเรียนรู้แต่อย่างไร คุณพ่อเรย์ได้ก่อตั้งโรงเรียนของท่านขึ้น เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกในเขตภาคตะวันออกที่รับเด็กเหล่านี้

     โรงเรียนเริ่มต้นด้วยครูเพียงหกคนและรับเด็กพิเศษที่อยู่ในระแวกนี้จำนวนสิบแปดคน เด็กมีอายุระหว่างห้าถึงแปดปี เด็ก ๆ จะกินนอนอยู่โรงเรียนระหว่างวันจันทร์ถึงศุกร์ ส่วนในวันหยุดเด็ก ๆ สามารถเดินทางกลับบ้านได้ โรงเรียนของคุณพ่อเรย์เป็นงานการกุศล โดยรับเด็ก ๆ ที่อยู่ในฐานะยากจนและผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างไร ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 โรงเรียนมีเด็กนักเรียนอยู่สี่สิบสองคน อายุระหว่างสามถึงสิบปี

โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา

     แรกเริ่มเดิมทีคุณพ่อเรย์ประสงค์จะตั้งโรงเรียนสำหรับผู้พิการทางแขนขาและทางการเคลื่อนไหว โดยให้คนเหล่านี้ได้ฝึกวิชาชีพ อาทิเช่น การทำกระเบื้องเซรามิค ซ่อมเครื่องไฟฟ้า และเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ ว่ากันว่า คุณพ่อเรย์คิดถึงหลักสูตรการเลี้ยงผึ้งด้วยเช่นกัน หลังจากที่ได้ลองผิดลองถูกจนตกลงได้ว่าหลักสูตรใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการมากที่สุด คุณพ่อเรย์ตัดสินใจที่เลือกเปิดหลักสูตรการใช้คอมพิวเตอร์และซ่อมเครื่องไฟฟ้าสำหรับโรงเรียนของท่าน

     ในปี พ.ศ. 2530 นักเรียนรุ่นแรกได้ออกไปฝึกงานตามร้านซ่อมเครื่องไฟฟ้าทั่วราชอาณาจักรไทย หกเดือนต่อมา พวกเขากลับมาที่โรงเรียนพร้อมจดหมายรับรองจากสถานประกอบการ พวกเขาเป็นรุ่นแรกที่จบการศึกษาและได้รับเข้าทำงานตามที่ต่าง ๆ ทุกวันนี้ โรงเรียนของเรามีหลักสูตรสองปี สำหรับภาควิชาคอมพิวเตอร์และธุรกิจในภาษาอังกฤษ นักเรียนผู้พิการทุกคนจะได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษในระดับต้นและระดับสูง วันนี้โรงเรียนยังคงรักษาชื่อเสียงที่ว่า “นักเรียนที่จบการศึกษา ทุกคนมีงานทำร้อยเปอร์เซ็นต์” 

     นอกเหนือจากการศึกษาเล่าเรียน โรงเรียนยังส่งเสริมให้พวกเขาฝึกศักยภาพในด้านกีฬา แม้จะต้องปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้พวกเขาสามารถเล่นกีฬาเหมือนคนปกติได้ แต่มันก็ไม่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้นักเรียนของโรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ก้าวสู่ความเป็นนักกีฬาระดับชาติและนานาชาติ หลายครั้งที่นักเรียนนำเหรียญและถ้วยรางวัลต่าง ๆ กลับมาที่โรงเรียน ตราบจนวันนี้ มีนักเรียนกว่าสองพันคนจบจากโรงเรียน พวกเขาได้งานทำและฐานะที่ดีขึ้นในสังคม ขณะนี้โรงเรียนมีนักเรียนกว่าสองร้อยห้าสิบคนเรียนและกินอยู่ที่โรงเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างไร

โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่ พัทยา

     โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่เริ่มการเรียนการสอนประมาณเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2530 โดยมีอาจารย์ออรอร่า ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา เป็นครูใหญ่ของโรงเรียน อาจารย์จบการศึกษาจากวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2525 แรกเริ่ม โรงเรียนมีเด็กทั้งสิ้นเจ็ดคน อายุสี่ถึงสิบสองปี มีการจัดหลักสูตรใหม่สำหรับเด็กพิการทางสายตาอาทิเช่น แทนที่จะให้เด็กวาดรูปมีการสอนให้เด็กปั้นดินน้ำมัน เด็ก ๆ ดีดลูกคิดในวิชาเลขคณิต ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งคุณพ่อเรย์และอาจารย์ออรอร่าพยายามสอนให้นักเรียนสามารถพึ่งตนเองและดูแลตนเองได้โดยเฉพาะในเรื่องสุขอนามัย

     ในปี พ.ศ. 2534 โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ ทุกวันนี้ มีเด็กนักเรียนร้อยสามสิบเจ็คคน ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่สาม เรากำลังสร้างอาคารหลังใหม่ เพื่อขยายโอกาสด้านการศึกษาในด้านวิชาชีพให้นักเรียนที่จบจากโรงเรียนหรือผู้พิการทางสายตาทั่วไป คาดว่าโรงเรียนจะเปิดหลักสูตรต่าง ๆ อาทิเช่น การทำธุรกิจทางไกล การแปลและล่าม ดนตรี และโอเปอเรเตอร์

บ้านแรกรับและงานภาคสนามเพื่อเด็กและเยาวชนพระมหาไถ่ พัทยา มูลนิธิคุณพ่อเรย์

     ประมาณเดือนมกราคม พ.ศ.2534 คุณพ่อเรย์ได้เล็งเห็นว่ามีเด็กกว่าสี่ร้อยคนที่เร่ร่อนอยู่ตามท้องถนนในเขตพัทยา เด็กเหล่านี้ถูกขับไล่ไสส่งหรือไม่ก็หนีออกจากบ้าน บางคนมาจากต่างจังหวัดที่ห่างไกลเพื่อหาชีวิตที่ดีกว่าที่พัทยา และเพื่อที่จะทำให้เด็กเหล่านี้เชื่อมั่นว่า ชีวิตของพวกเขาดีกว่านี้ได้แน่ คุณพ่อเรย์ได้เปิดบ้านสำหรับพวกเขา แรกทีเดียวบ้านหลังนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก สองปีผ่านไป มีเด็กเข้าในพักในบ้านกว่ายี่สิบคน ในปี พ.ศ. 2535 คุณพ่อเรย์เคยกล่าวเปรยในวันฉลองคริสต์มาสไว้ว่า แม้โครงการนี้จะเล็กที่สุดแต่ทำงานยากที่สุด

     ในปี พ.ศ. 2532 สถานะการเงินของคุณพ่อเรย์ดีขึ้น ท่านได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งไกลจากเมืองพัทยาประมาณสิบกว่ากิโลเมตร เป็นที่ดินสำหรับเลี้ยงหมู แรกทีเดียวท่านก็ไม่ทราบว่าทำไมถึงซื้อที่ดินแปลงนี้ เก้าปีต่อมาจำนวนเด็กที่ศูนย์พักพิงมีมากขึ้น คุณพ่อเรย์มีเริ่มมีความคิดที่จะหาที่แห่งใหม่เพื่อรองรับจำนวนเด็กที่เพิ่มขึ้นนี้ ที่ดินแปลงนี้เหมาะสำหรับทำการเกษตรปลูกพืชผัก และเลี้ยงหมู มีน้ำอย่างอุดม และอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนเท่าไรนัก แถมยังอยู่ไกลกับหมู่บ้านเลี้ยงช้างอีกด้วย คุณพ่อเรย์จึงได้เริ่มก่อสร้างบ้านหลังใหม่นี้ในปี พ.ศ.2541 แต่ยังขาดเงินทุนอยู่ไม่น้อย จึงดำเนินงานก่อสร้างได้ช้ามาก จนถึงปี พ.ศ.2543 ได้ย้ายเด็กกลุ่มแรกที่บ้านใหม่ของพวกเขา

บ้านเด็กพระมหาไถ่ พัทยา มูลนิธิคุณพ่อเรย์

     ในปี พ.ศ. 2544 คุณพ่อเรย์ได้เริ่มก่อสร้างบ้านอีกหลังหนึ่งสำหรับเด็กหญิง ซึ่งขณะนั้นพวกเขาอาศัยอยู่บ้านชั่วคราวอยู่ไกลไม่กี่กิโลเมตร บ้านหลังใหม่นี้มีห้องสมุดและห้องคอมพิวเตอร์ โครงการต่อมาของคุณพ่อเรย์คือ การสร้างบ้านใหม่สำหรับเด็กผู้ชาย เป็นตึกห้าชั้นและสามารถรับเด็กได้ถึงสามร้อยห้าสิบคนทีเดียว ทุกวันนี้ มีเด็กทั้งชายหญิงอยู่ในบ้านเด็กพระมหาไถ่แห่งนี้จำนวนหนึ่งร้อยเจ็ดสิบคน เด็กที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ตามท้องถนน เร่ร่อน หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ตอนนี้พวกเขามีบ้านและครอบครัวใหม่ ในบ้านเด็กพระมหาไถ่หลังนี้

กำเนิดมูลนิธิคุณพ่อเรย์ และการจากไปของท่าน

     ในขณะที่คุณพ่อเรย์ยังมีชีวิตอยู่ เหล่าสมาชิกนักบวชคณะพระมหาไถ่ มีความเห็นว่าเราควรตั้งอีกมูลนิธิฯ หนึ่ง เพื่อเน้นการบริการและการจัดการในเรื่องต่าง ๆ ในเครือข่ายงานสังคมสงเคราะห์ของคณะพระมหาไถ่ที่พัทยา จึงเกิดเป็น มูลนิธิคุณพ่อเรย์ (Father Ray Foundation) ขึ้นในปี พ.ศ. 2546 แม้ตัวคุณพ่อเรย์เองจะขัดเขินไปบ้าง เพราะเป็นชื่อของท่านโดยตรง แต่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม จึงยอมใช้ชื่อของท่านเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของมูลนิธิฯ ต่อมาไม่นาน คุณพ่อเรย์ได้จากเราไปอย่างสงบ เมื่อเช้าวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2546

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพระมหาไถ่ พัทยา มูลนิธิคุณพ่อเรย์

     หลังจากการจากไปของคุณพ่อเรย์ มูลนิธิคุณพ่อเรย์ได้ขยายงานช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาสในชุมชนขึ้น โดยมีชื่อว่า “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพระมหาไถ่” ได้มีพิธีเสกอาคารหลังใหม่ ในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551 อาคารหลังใหม่นี้ตั้งอยู่บริเวณของศูนย์พระมหาไถ่ เรียกได้ว่าติดกับถนนสุขุมวิทเลยทีเดียว ศูนย์แห่งใหม่นี้ให้ความช่วยเหลือผู้ปกครองที่มีฐานะยากจน โดยทางศูนย์ให้ความดูและและการศึกษา มีหลายกรณีที่พ่อแม่ต้องไปทำงาน และทิ้งลูกไว้ที่บ้านคนเดียว หรือบางทีก็ฝากไว้กับบรรดาญาติมิตร ส่วนใหญ่ครอบครัวของเด็กเหล่านี้พักอยู่ในเขตสลัมในเมืองพัทยา เด็กจึงอยู่ในภาวะเสี่ยงในหลาย ๆ ประการ อาทิเช่น ความปลอดภัย ปัญหายาเสพติด การถูกล่วงละเมิด ฯลฯ 

     ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯแห่งนี้สามารถรองรับบรรดาเด็ก ๆ ช่วงอายุสองถึงห้าขวบ และรับเด็กได้ถึงร้อยห้าสิบคน เด็กจะเริ่มทะยอยมาเรียนตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า และเริ่มรับประทานอาหารเช้า มีการเคารพธงชาติ สวดมนต์ และเริ่มเรียนจนถึงห้าโมงเย็นของทุก ๆ วันจันทร์ถึงศุกร์ ครูและเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้สอนบรรดานักเรียนตัวน้อย ๆ โดยใช้กิจกรรมอันหลากหลาย เพื่อพัฒนาการของเด็ก ๆ

     แม้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพระมหาไถ่จะเริ่มเปิดได้ไม่นานนัก บรรดาพ่อแม่ของเด็กรู้ดีใจมากที่เห็นลูก ๆ ของตนมีโอกาสได้เรียนหนังสือ มีการพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายจิตใจและสังคม เรามีความเชื่อในสิ่งที่เราปลูกฝังให้กับบรรดาเด็ก ๆ ว่าหลังจากที่บรรดาเด็ก เหล่านี้จบจากศูนย์ฯ พวกเขาจะตั้งใจเรียนในระดับที่สูงขึ้น และมีอนาคตที่สดใสและ พวกเขาจะไม่ตกอยู่ในสถาพเด็กข้างถนนอย่างแน่นอน

หมู่บ้านเด็กคุณพ่อเรย์

     ไม่นานหลังจากที่มูลนิธิคุณพ่อเรย์ได้เริ่มเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มูลนิธิคุณพ่อเรย์ยังได้เริ่มโครงการใหม่ที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งคือ “หมู่บ้านเด็กคุณพ่อเรย์” โครงการนี้ตั้งอยู่นอกเขตพัทยาค่อนข้างไกลจากผู้คน บนที่ดินที่คุณพ่อเรย์ได้ซื้อไว้หลายปีมาแล้ว จุดประสงค์หลักของโครงการนี้คือ การรับเด็กที่ถูกทอดทิ้งไม่ว่าในกรณีต่าง ๆ บางคนถูกทอดทิ้งจากครอบครัว บางคนเป็นเด็กกำพร้า ที่หมู่บ้านเด็กคุณพ่อเรย์ เด็ก ๆ จะได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักและความห่วงใยดังเช่นเป็นครอบครัวของพวกเขาจริง ๆ เราเริ่มเปิดโครงการในวันแรกด้วยบ้านจำนวนสี่หลัง เป็นวันที่เด็ก ๆ ได้ย้ายจากศูนย์พักพิ่งชั่วคราวมาอยู่ที่บ้านหลังใหม่นี้ โดยที่เราได้ตั้งเป้าในการก่อสร้างบ้านเป็นจำนวนยี่สิบหลังด้วยกัน ซึ่งจะทะยอยสร้างตามกำลังทุนทรัพย์และเงินจากผู้มีจิตศรัทธา

     บ้านแต่ละหลังจะมีคุณแม่และคุณน้าที่คอยดูแลเด็ก ๆ บ้านหลังหนึ่งรับเด็กได้แปดถึงสิบสองคน บรรดาคุณแม่และคุณน้าจะคอยดูแลเด็ก ๆ ด้วยความรักและเอาใจใส่ พวกเด็ก ๆ จะได้รับแรงบันดาลใจและการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ บรรยากาศที่หมู่บ้านเด็กคุณพ่อเรย์จึงเต็มไปด้วยความเป็นครอบครัวอย่างแท้จริง พวกเด็ก ๆ ได้ไปเรียนที่โรงเรียน กลับมาทำการบ้าน ช่วยเหลืองานบ้านต่าง ๆ และนับเป็นความโชคดีที่เรามีสถานีอนามัยอยู่ใกล้ ๆ

นอกจากบรรดาแม่และน้าที่อยู่ตามบ้านแล้ว เรายังมีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในห้องทำงานชั่วคราวโดยปรับปรุงจากตู้คอนเทนเนอร์ เรามีความฝันที่จะเห็นโครงการนี้ขยายเท่าที่จะทำได้ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กให้มากที่สุด ให้ได้จึงจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน หมู่บ้านเด็กคุณพ่อเรย์จะเป็นบ้านที่เด็กได้ประสบประการณ์ชีวิต เมื่อพวกเขาออกไปจะเป็นคนดีของสังคม ทุกวันนี้มีเด็ก ๆ อยู่ในโครงการเต็มบ้านทั้งสี่หลังแล้ว และเรายังต้องการบุคลากรมาช่วยงานอีกมาก

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

  ที่อยู่ : มูลนิธิคุณพ่อเรย์ 440 หมู่ 9 (ตู้ ป.ณ. 15, นาเกลือ) ถนนสุขุมวิท กม. 145 ต. หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี 20150

TEL : +66 (0) 38428717
FAX : +66 (0) 38420340
Line ID : frffoundation2016