เชื่อหรือไม่ว่าในประเทศไทยปีหนึ่งๆ มีจำนวนเด็กที่สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยสูงถึงกว่า 400 คน ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นกลุ่มที่หนีออกจากบ้านด้วยความสมัครใจประมาณ 85% และเป็นอัตราส่วนผู้หญิงกับผู้ชายที่ 3:1 ซึ่งแสดงถึงปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในสังคมไทย ทั้งการเลี้ยงลูกอย่างผิดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการด่าทอ ทำร้ายร่างกาย หรือแม้กระทั่งข่มขืน ทำให้เด็กเหล่านั้นต้องหาที่พึ่งอื่นที่ช่วยเหลือพวกเขาหลังจากถูกคนใกล้ชิดทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจมาอย่างยาวนาน
แต่ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่เรียกได้ว่าน่ากลัว และน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง นั่นก็คือ “การถูกลักพาตัว” เพื่อไปทำธุรกิจค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะนำไปขอทาน ขายของตามร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งค้าประเวณี ซึ่งหากครอบครัวของท่านไม่มีปัญหาข้างต้น และลูกของคุณก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องหนีออกจากบ้าน การแจ้งเหตุให้เจ้าหน้าที่รู้เร็วที่สุด เป็นการเพิ่มโอกาสในการช่วยเหลือติดตามบุตรหลานของท่านกลับคืนมาได้มากขึ้น
ก่อนจะไปแจ้งความต้องทำสิ่งต่อไปนี้
บางครั้งการสูญหายอาจไม่ได้รุนแรงมากนัก อาจเกิดจากการพลัดหลงหรือหลงลืมระหว่างผู้ปกครองกับบุตรหลาน หรือผู้สูงอายุ ดังนั้นก่อนไปแจ้งความให้ท่านดำเนินการดังต่อไปนี้ให้เรียบร้อยเสียก่อน
- แจ้งประชาสัมพันธ์,หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่อยู่บริเวณที่พลัดหลงให้ประกาศตามหาบุคคลที่พลัดหลง
- สอบถามบุคคลใกล้เคียงที่บุคคลที่พลัดหลงอาจเดินผ่านไปตามเส้นทางต่างๆ
- ตรวจสอบภายในห้องน้ำตามจุดบริการต่างๆ และสอบถามแม่บ้านที่ทำความสะอาด
- ตรวจสอบกล้องวงจรปิดว่าบริเวณที่พลัดหลงมีหรือไม่ และขอให้ผู้ดูแลช่วยตรวจสอบเบื้องต้นก่อน
- หากมีโทรศัพท์ให้ลองโทรศัพท์ติดตามไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งส่งข้อความแจ้งให้โทรกลับ
ไม่ต้องรอถึง 24 ชั่วโมงก็แจ้งได้
เมื่อท่านไม่สามารถติดต่อบุตรหลานของท่านได้โดยไม่มีช่องทางอื่นที่ติดตามได้ และมีความผิดปกติ หลังจากที่ท่านติดตามผ่านประชาสัมพันธ์บริเวณที่พลัดหลง และสอบถามบุคคลละแวกใกล้เคียงแล้วแต่ไม่สามารถติดตามตัวได้ ท่านสามารถแจ้งความได้ที่โรงพักท้องที่ที่ทราบว่าบุคคลนั้นหายไป โดยไม่ต้องรอให้ครบ 24 ชั่วโมง
หลักฐานในการแจ้งความ
หลักฐานที่ใช้ในการแจ้งความเป็นเอกสารยืนยันตัวบุคคลว่ามีชื่อสกุลอะไร และหน้าตาเป็นอย่างไร ลักษณะที่สำคัญ เกี่ยวข้องกับผู้แจ้งอย่างไรและรายละเอียดเกี่ยวกับการสูญหาย รวมถึงชุดที่ใส่ขณะหายตัวไป
- สำเนาบัตรประชาชน ผู้สูญหาย และผู้แจ้ง
- สำเนาทะเบียนบ้านผู้สูญหาย
- รูปถ่ายปัจจุบันผู้สูญหาย
- ใบสำคัญทางราชการอื่นๆ (ใบขับขี่ สูติบัตร บัตรประจำตัวโรงพยาบาล) ในกรณีที่ไม่มีเอกสารข้างต้น
หน่วยงานที่ช่วยเหลือกรณีคนหาย
ในประเทศไทยมีส่วนราชการที่ดูแลเรื่องคนหายโดยตรงอยู่นั่นคือ ศูนย์ประชาบดี ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 ท่านสามารถแจ้งข้อมูลเพื่อให้ศูนย์ประสานงานถึงหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ที่ต้องสงสัยได้ทันทีหากพบความผิดปกติกรณีเด็กและผู้สูงอายุสูญหาย และยังมีหน่วยงานอื่นๆที่ประสานงานได้เพื่อเป็นช่องทางในการติดตามดังนี้
- สถานีตำรวจในพื้นที่ที่น่าเชื่อว่าบุคคลได้สูญหาย
- มูลนิธิกระจกเงา
- Facebook ศูนย์ข้อมูลคนหาย
- กลุ่ม Social ต่างๆ ในเฟทบุคที่สามารถช่วยกระจายข่าวสาร
- สถานีวิทยุและโทรทัศน์ช่องต่างๆ
- จส.100 สายด่วน 1137 , 02-2499449
ในโอกาสต่อไปจะมาแนะนำวิธีป้องกันบุคคลสูญหายเบื้องต้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุไม่คาดคิด หากคุณเคยสัมผัสเหตุการณ์แล้วรับรองว่าไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน ขนาดของหายหรือหาไม่เจอเรายังรู้สึกร้อนใจ หงุดหงิด ที่ไม่สามารถหาสิ่งของที่ต้องใช้ได้ทันท่วงที แล้วนี่เป็นบุคคลที่เราเป็นห่วงหากเกิดพลัดหลงสูญหายไปแล้ว หากสามารถติดตามกลับมาได้ก็คงสบายใจ แต่หากไม่สามารถติดตามได้แล้วคงจะต้องทุกข์ใจไปตลอดชีวิต